Home ธรรมะวาที ร้อยวาทะ…ธรรมะปิดทอง(๑)

ร้อยวาทะ…ธรรมะปิดทอง(๑)

1 min read
0
0
2,021

ร้อยวาทะ ธรรมะปิดทอง

เกล็ดมณีแห่งวาทะ ธรรมะจากแดนพุทธองค์

 

โดย

พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

 

ทรงชี้นำว่า
สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบลนี้
คือสมบัติของชาวพุทธผู้ศรัทธาเลื่อมใส
ให้เป็นจุดนัดพบของคนที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อนุโมทนาพจน์

ผู้เดินทางไปอินเดีย หากจะประมวลประเภทบุคคล เห็นจะต้องจำแนกให้เห็นว่า ที่ไปปฏิบัติราชการประจำกับชั่วครั้งชั่วคราว ติดต่อธุรกิจค้าขาย ประชุมสัมมนา ศึกษาเล่าเรียน เยี่ยมญาติ ท่องเที่ยวยามว่าง และไปไหว้พระตามความเชื่อทางศาสนาของตนก็มากหลาย
ในบรรดาผู้เดินทางเหล่านั้น มีโอกาสพูดคุย ร่วมประชุม เสวนา สนทนาปราศรัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ไปไหว้พระ-สวดมนต์ หรือที่เรียกกันว่า “ธรรมยาตราตามรอยบาทพระพุทธเจ้า” ได้ทำหน้าที่สมณทูต เป็นผู้บรรยาย ให้คำปรึกษา สนทนาครั้งละหลายๆ วัน ปีละหลายๆ ครั้ง ด้วยหลักพระธรรมทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ตามภูมิรู้ที่พอมีอยู่บ้าง
ท่านพระมหาอ้าย ธีรปญฺโญ พระนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเดลี ผู้รับทุน “กองทุนการศึกษาพระพุทธสยัมภูญาณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย” ได้เก็บหอมรอมริบจากส่วนที่เป็นบันทึก คำบรรยาย การสนทนา เอกสาร หัวข้อประชุมในคราวต่างๆ นำเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ที่ขอนำเสนอทางความคิดและข้อสะกิดความรู้สึก เตือนใจ แล้วส่งมาให้ช่วยขัดเกลา พอที่จะจัดพิมพ์แจกจ่ายกันเป็นภายใน สำหรับผู้นิยมเรื่องแขกๆ และแก่ผู้สนใจในวงที่ไม่กว้างนัก โดยช่วยตั้งชื่อกันว่า “ร้อยวาทะธรรมะปิดทอง”
ดังนั้น “ร้อยวาทะธรรมะปิดทอง” ได้เก็บสาระร้อยเรียงจากที่ได้บรรยายในแต่ละที่ ก็ลงหม้อแกงอันเดียวกัน เก็บจากนั่นนิด จับที่นั่นหน่อย จนครบถ้อย ๑๐๐ วาทะ ทั้งนี้ก็ด้วยน้ำใจจากการประสานการผลิตของกลุ่มพระนักศึกษากองทุนพระพุทธสยัมภูญาณ มหาวิทยาลัยเดลี ความเป็นไปได้ในครั้งนี้ จึงปรากฏตามที่เห็น
ขอขอบคุณพระคุณบูรพาจารย์ ผู้ให้แนวทาง ท่านผู้รู้ที่ช่วยแนะนำพร่ำสอน และท่านผู้เป็นเจ้าของบทกวีที่จำมาประกอบการบรรยาย ขอขอบคุณเพื่อสหธรรมิก ผู้ร่วมงานทุกๆ ท่าน ตลอดถึงขออนุโมทนาถึงท่านผู้ถวายกัณฑ์เทศน์ในโอกาสนั้นๆ อีกด้วย

พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
รองหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย
ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย
ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

********************


๕ วาทะ วีรยุทธวาที

๑.      ขอพูดแบบฟันธงว่า
“พระพุทธเจ้าสอนให้รู้เนื้อรู้ตัวเท่านั้น”

๒.      ทำงานดุจลม
ไร้ตัวตน แต่ทรงพลัง

๓.      มีงานมาก ทำเหมือนว่า มีงานน้อย
นี่คือ วิถีของผู้ยิ่งใหญ่…ท่านเอย

๔.     พระธรรมต้องปฏิบัติข้างใน
พระวินัยต้องปฏิบัติข้างนอก

๕.     คนมาอินเดีย
ล้วนแต่มาพบพระพุทธเจ้า
เล่าเรื่องใดๆ ก็ไม่สุขใจเท่าเรื่องพระพุทธเจ้า

********************

 

ร้อย…วาทะธรรมะปิดทอง (๑)


๑.         สื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัย
“…ผู้เดินทางมาบูชากราบไหว้พระพุทธเจ้า ตามพุทธสถานในพุทธภูมิ ล้วนมากันด้วยพลังศรัทธาอันเกิดจากพุทธวจนะ ที่ทรงชี้นำทางเหมือนว่าเชื้อเชิญหรือกวักพระหัตถ์ให้โอกาสทองมาได้รับสิ่งดีๆ แก่ชีวิต โดยนำสังเวชนียสถาน ๔ แห่งมาเป็นสื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยตามที่พระอานนท์ทูลถามก่อนเสด็จปรินิพพาน ณ ที่สาลวโนทยานในกรุงกุสินาราว่า
“เมื่อกาลก่อน พุทธบริษัทในทิศทั้งหลาย ต่างพากันมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต ย่อมได้เห็นได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้ใหญ่ เจริญใจเหล่านั้น ก็แต่ว่าเมื่อกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้ใหญ่เจริญใจเหล่านั้นอีก”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ ๑ พระตถาคตตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ๑ พระตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วในที่นี้ ๑ พระตถาคตเสด็จปรินิพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ ๑ ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไปยังเจติยสถานเหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายมลายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
นี้เป็นคำที่พระพุทธองค์ ทรงสอนในมหาปรินิพพานสูตร ให้วิถีแก่เราได้เข้าใกล้พระองค์ ทั้งกายและใจ เหมือนอย่างเมื่อทรงยังดำรงพระชนม์อยู่ โดยอาศัยสังเวชนนียสถาน เป็นสื่อนำเข้าถึงสิ่งควรที่จะดู ควรจะเห็น ควรให้เกิดสังเวช แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย และพึงนมัสการด้วยความเคารพต่อที่ประสูติ ตรัสรู้ ประทานปฐมเทศนาและปรินิพพาน…”

(สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๒-๒๓)

 

 

๒.         ทำใจให้ได้
“มาอินเดีย คงหนักอกหนักใจ ว่าจะทำอะไร บุญก็อยากได้ ลำบากก็อยากหลบ กิเลสก็อยากพ้น ทุกข์ก็อยากหนี เศรษฐีก็อยากเป็น ตัดใจให้หายกังวลเถิด ขออย่าได้สับสนกันเลยนะ…โยมท่านทั้งหลาย ลองคิดง่ายๆ ตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า
  …..ทำใจได้ เมื่อใด สุขสบายเมื่อนั้น
…..ถ้าตามใจ เมื่อใด แบกทุกข์เมื่อนั้น”

 

 

๓.         Smooth as Silk
“…..จะไปจะมาในอินเดียและเนปาลให้สะดวกปลอดภัย เรียกว่า ไร้กังวลทั้งคนขับและผู้โดยสารแล้วละก็ จะต้องมีดีหรือมี Good อีกถึง ๕ Good เป็นตัวชูกำลัง จึงจะรับรองว่าดีแน่ เรียกว่า ดีที่เรา ดีที่รถยังไม่พอ ต้องมีอีก ๕ ดี หรือ ๕ Good จึงจะเรียกว่า ดีจริง คือ
๑. Good Horn… ต้องมีแตรดี
๒. Good Eye… ต้องมีสายตาดี
๓. Good Brake… ต้องมีเบรกดี
๔. Good Heart… ต้องใจดี คือใจต้องถึงนั่นเอง
๕. Good Luck… ต้องมีโชคเข้าข้างด้วย
เมื่อมี ๕ ดีแล้ว การสัญจรจึงน่าจะมีสวัสดิภาพถึงเป้าหมายได้สบายแฮ…”

(จาริกเนปาล หน้า ๕)

 

 

๔.         เพลิงไฟจากปลายฟืน
“…เพลิงไฟจากปลายฟืนยื่นส่งด้วยคารวะ ฟืนต่อฟืน ไฟต่อไฟ ไม่นานเปลวไฟร้อนสีทับทิมก็โพลงพุ่งท่วมร่างสิ้นลมห่มผ้าสี สงบในฟอนไฟ บนกองฟืน นี่คือสัจธรรมที่ปศุปตินาถ ภาพแห่งความโลดแล่นเสาะแสวงกับภาพนิ่งสงบสยบโลกไว้…ไม่เหลือแม้รอยอาลัย สรีระที่แหนห่วงหวง หากถูกทอดปลงอย่างเดียวดายไม่ย้ายโยก ไม่โบกมือลา แม้เพลิงโหมทวี
นี่แหละ คือ ปลายทางแห่งลมหายใจของทุกคน สิ้นลม สิ้นเรื่อง หมดลมก็หมดเรื่องไปด้วย…เราสิยังมีลม ก็ต้องมีเรื่องให้ชำระอยู่ร่ำไป สรรพสิ่งล้วนวิบัติ สรรพสัตว์ล้วนตาย เราทั้งหลายอย่าประมาท วันนี้เรามาดูเขาถูกเผา วันต่อไปเล่า คนที่ถูกเผาคือเราทุกคน…”

(เพลิงไฟจากปลายฟืน…จาริกเนปาล หน้า ๒๙๐)

 

 

๕.         ธรรมยาตราศาสนาทางใจ
“…แดนภารตะแห่งนี้ มีทั้งสุขให้เราเลือก มีทั้งทุกข์ให้เราผจญ ใครจะรับสุขหรือทุกข์นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการปรับสภาพของเราเอง พยายามสรรสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีดีต่อสิ่งที่ผ่านมากระทบ สร้างความเข้าใจต่อสิ่งนั้นๆ หลีกเลี่ยงความกินใจต่อสิ่งที่ไม่เหมือนของเรา และความยากลำบาก เข้าให้ถึงมุมเสน่หาอินเดียให้ได้ เพราะเสน่ห์แบบพิลึกกึกกือของเมืองแขกนี่เอง ที่ผู้ไปพบเห็นกล่าวขานกันไม่รู้จบ ความสุขชนิดที่คิดกันไม่ถึง ก็น่าจะเป็นมหาเสน่ห์ที่ถวิลหาไม่รู้หาย
ดังนั้น ผู้จะมาจาริกอินเดียให้ดูดี ต้องพกศรัทธา พาปัญญา จูงมือความเพียร สะสมบารมีมาให้เพียงพอต่อการใช้สอยในแต่ละวัน หากมีศรัทธาจำกัด ปัญญาจำเขี่ย มีความเพียรอย่างจำใจ จะทำให้ผู้เดินทางอ่อนระโหยโรยแรง พลาดจากความสนุกกับสิ่งแปลกใหม่อย่างน่าเสียดาย ขอให้ทำใจให้ได้อย่างเดียว ความสุขหลายอย่างจะตามมา หากตามใจอย่างเดียวเท่านั้น จะขาดทุนความอีกหลายอย่าง…”

(ธรรมยาตราทางใจ…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๒)

 

 

๖.         เมืองเสื่อมในความเจริญ
“…มาอินเดีย เราต้องดูความเจริญในความเสื่อม หมายความว่า เมื่อเราดูสถูป วิหาร เจดีย์ ผู้คนยากจน แต่งตัวมอมแมม กระท่อมดินเล็กๆ ถนนหนทางหลุมบ่อล้าหลัง เหล่านี้คือเรื่องความเสื่อมถอยทั้งสิ้น
แต่กลับมาดูจิตใจเราเหมือนเจริญขึ้น ภูมิใจกับตนเอง ภูมิใจในประเทศของตนมากขึ้น คิดว่าอย่างไรเสีย เรายังดีกว่าเขาอีกมากหลาย เราไปประเทศอื่นๆ ไปดูความเสื่อมในความเจริญ เช่น เห็นบ้านเรือนเขาเจริญ มีรถ มีบ้าน มีที่ทำงาน ผู้คนแต่งตัวหน้าตาสวยๆ งามๆ หันกลับมามองที่ตัวเรา บ้านก็ไม่หรู ตู้ก็ไม่สวย รถก็ตกรุ่นไปแล้ว อะไรๆ ก็สู้เขาไม่ได้ นี่เองที่เรียกว่า ความเสื่อมในความเจริญ สิ่งที่เรียกกันว่า ความเจริญ เจาะให้ลึกจะเห็นความเสื่อมกำลังตามมา…”

(เมืองเสื่อมในความเจริญ…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๔-๒๕)

 

 

๗.         มาอินเดียทำไม?
“…ผู้มาจาริกแดนพุทธภูมิมากันหลายหลากมากประเภท มีความประสงค์เป็นของตัวเองค่อนข้างสูง ด้วยศรัทธาต่อพระบรมศาสดาเป็นหลักในความเลื่อมใสที่แตกต่างกัน พอจะสรุปเป็นวัตถุประสงค์ที่คล้ายๆ กันของการเดินทางมาอินเดีย ดังนี้
๑. มาไหว้พระ… เป็นเมืองกำเนิดพระและเจ้า
๒. มาพบปะสิ่งต่างๆ… เป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลาย
๓. มาเปิดกว้างทางความคิด… เป็นตะกร้าแห่งความคิด
๔. มาตั้งจิตปฏิบัติธรรม… เป็นโรงเรียนเตรียมอริยะ
๕. มาน้อมนำสิ่งที่ดีกลับไป… เป็นที่ให้โอกาสแก่ผู้แสวงหา
๖. มาทำใจให้ถึงพระนิพพาน… เป็นที่พบบรมธรรม…”

(สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๖๔)

 

 

๘.         ปลูกคุณธรรมนำจาริกบุญ
“…ผู้คิดว่าจะไปไหว้พระให้ครบพุทธสถาน ๔ แห่ง ตามตั้งใจได้นั้น จะต้องปลูกคุณธรรมของผู้เดินทาง ดังนี้
๑. สัทธิโก… มีความศรัทธา เชื่อมั่น
๒. ปหูตธโน… มีทรัพย์ภายนอก ภายใน พอแก่การใช้สอย
๓. อโรโค… ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
๔. ปริวาโร… มีบริวารสนับสนุน
๕. มัคคนายโก… มีผู้นำพาที่เชื่อใจได้
๖. มัคคุเทสโก… มีผู้บรรยายที่ชำนาญ ให้ความรู้…”

(สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๒)

 

 

๙.         แต่งร่างวางแบบเมื่อมาอินเดีย
“…มีคำพูดกันว่า มาอินเดียเพื่อไหว้พระรับพร ไปเมืองจีนเพื่อไหว้เจ้ารับโชค ฟังดูแล้วชักจะเห็นคล้อยตามนั้นไม่น้อย เพราะดินแดนทั้งสองแห่งล้วนเป็นบ่อเกิดอารยธรรม เป็นโรงบ่มจิตวิญญาณให้กล้าแกร่ง ให้สิ่งที่ดีเลิศแก่ผู้มีน้ำใจไปเยี่ยมเยือนเสมอ
เพื่อจะให้สมเจตนา ก่อนเดินทางเตรียมตัวให้พร้อม คือ ปรับระดับจิตใจ ตลอดถึงความรู้สึกกับความเคยชินกับที่อยู่แบบเดิม คนหน้าเดิม อาหารอย่างเดิม และภาษาวัฒนธรรมเดิมๆ
หากว่าจะได้รับทั้งพร รับทั้งโชค โดยเฉพาะมาอินเดีย จะต้องฝึกวิชาตัวเบา กระทั่งหัดแปลงกาย แต่งร่าง วางแบบ ๕ อย่าง ดังนี้
๑. ปัพพชิโต….. นักบวช
๒. ปุญญาจาริโก….. นักบุญ
๓. สิกขโก….. นักศึกษา
๔. ปัณฑิโต….. นักปราชญ์
๕. เอกจาริโก….. นักผจญภัย
เมื่อนำคุณธรรมทั้ง ๕ มาคลุกเคล้าและปรับให้เข้ากับตน ทำนองว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม แล้วตลอดกาลเดินทางในอินเดีย จะรู้สึกทันทีว่า ราบรื่น สะดวกสบาย ไม่ลำบากเหมือนที่เคยคิดเลย…”

(เมื่อมาอินเดีย…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๓-๒๔)

 

 

๑๐.       มรรค ๘ ของนักจาริกบุญ
“…มีความกล่าวว่า ชีวิตคือการเดินทาง เห็นจะจริง แต่การเดินทางจะมีชีวิตได้ ลองนำสูตร มรรค ๘ ของนักท่องเที่ยว มาประกอบการเดินทางดูบ้าง ดังนี้
๑. ไปอย่างฝรั่ง….. รู้จักวางแผน
๒. ใช้สตังค์แบบญี่ปุ่น….. รู้จักการใช้จ่าย
๓. มีทุนแบบไทย….. รู้จักหาทุนให้พอ
๔. ทำใจแบบธิเบต….. รู้จักข่มใจให้ดี
๕. สังเกตแบบจีน….. รู้จักการบันทึก
๖. กินแบบแขก….. รู้จักประมาณในการบริโภค
๗. บุกแหลกแบบพระธุดงค์….. รู้จักจัดสรรภาระให้น้อย
๘. มั่นคงดุจองค์อรหันต์….. รู้จักบากบั่นสู่เป้าหมาย…”

(มรรคแปดของนักเดินทาง…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๑๙๒)

 

 

๑๑.       เทวทูตสู่เทวธรรม
“…หลายๆ คน เพียงพูดถึงอินเดีย ใช่ว่าไม่อยากมาเยือน แต่เนื่องจากเขาสะสมข้อมูลเน่าๆ เอาไว้มาก จนออกอาการเบื่อๆ อยากๆ อินเดียยากจน อินเดียสกปรก อินเดียมีแต่ขอทาน อินเดียเดินทางลำบาก อินเดียอดอยากยากเข็ญ อินเดียถ่ายทุกข์ข้างถนน แค่นี้ก็แทบจะหมดอารมณ์แล้วล่ะ
โถ…!! ดูให้ดีไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเราเลย จะไปแบกทุกข์กับเขาทำไม ก็เราจะไปสวดมนต์ไหว้พระ เพียงถือธูปเทียนก็พอแล้ว จะไปถือบ้าน ถือเมือง ถือความทุกข์เอาของเขาทำไม…หนักเปล่าๆ
พระพุทธเจ้าพบเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ พระองค์ไม่ไปแบกทุกข์ของเทวทูต กลับพลิกเทวทูตให้เป็นเทวดา นำพาให้พ้นทุกข์ได้ จริงๆ แล้วเพียงเรารู้จักการจัดความรู้สึกนึกคิดให้ดีๆ ก็พอแล้ว อย่าไปกังวลใจกับความลำบากของเขา เราเองก็ยังช่วยอะไรเขาให้พ้นทุกข์ไม่ได้ในขณะนี้
ตถตา…เขาเป็นเช่นนั้น เราเองก็เป็นเช่นนี้ ถ้าตามองเห็น จิตคิดเข้าไปแบกสิ่งต่างๆ ซึ่งของเขาทั้งนั้น เราก็เป็นเพียงจับกังที่เที่ยวแบกความทุกข์ของชาวบ้าน…หนักเปล่าๆ…”

(แบกทุกข์…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๓๕๙)

 

 

๑๒.       พาราณสีของดีเมือง ๑๐ ม.
“…พาราณสี นครโบราณ แหล่งท่องเที่ยว เมืองแสวงบุญ ชำระบาปของชนทุกระดับชั้น ต่างใฝ่หา อยากรู้เห็น คงเป็นเพราะเสน่ห์ เมืองพาราณสีมีของดี ๑๐ ม. ดังนี้
๑. ม.เมือง…..พาราณสีมีชื่อเสียงเป็นอมตะ
๒. ม.แม่น้ำ…..คงคาศักดิ์สิทธิ์ ลึกซึ้ง ลึกลับ
๓. ม.หมาก…..คำอร่อย มีชื่อมาแต่โบราณ
๔. ม.ไหม…..เนื้อดี ชนระดับสูงจึงได้ใช้สอย
๕. ม.มรณะ…..ตายแล้วขึ้นสวรรค์ทันที
๖. ม.มฤคทายวัน…..ป่ากวาง สัญลักษณ์แห่งอภัยทาน
๗. ม.มหาโพธิสัตว์…..ขุมทรัพย์แห่งขันติของพระเตมีย์
๘. ม.มหาเทพ…..สุทธาวาสที่สถิตแห่งศิวเทพ
๙. ม.หมุนกงล้อ…..ธรรมเทศนากัณฑ์แรก
๑๐. ม.มหาปรินิพพาน…..ถูกเสนอชื่อเพื่อเสด็จปรินิพพาน…”

(พาราณสีเมืองของดี ๑๐ ม. …สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๓-๒๔)

 

 

๑๓.       เทคนิคการอยู่กับแขก
“…เรามาอยู่ต่างแดน ต่างศาสนา ต่างภาษา สิ่งแวดล้อมรอบข้างทุกอย่าง ทุกขณะ พึงสังวรระวัง มั่นอยู่ในจุดยืนเสมอ ยิ่งทำงานกับคนที่ต่างจากเรา พึงอย่าเข้าใกล้ คุ้นเคย จนเกินควร ดังนี้
๑. อย่าเข้าใกล้…..จนเกินการ
๒. อย่าห่าง…..จนเกินควร
๓. อย่าด่วน…..จนเกินจริง
๔. อย่าสุงสิง…..จนเกินไป
๕. อย่าใช้…..จนเกินจำ
๖. อย่าแนะนำ…..จนเกินตาม
๗. อย่าไถ่ถาม…..จนเกินมี
๘. อย่าดี…..จนเสียคน
๙. อย่าขน…..จนหมดตัว
๑๐. อย่ากลัว…..จนหมดกล้า
เพียงเท่านี้ ก็น่าจะเป็นการช่วยเราแต่งเนื้อ จัดตัว ให้เหมาะควรแก่การสนองในสายงาน ได้อย่างเหมาะสม…”

(เทคนิคการอยู่กับแขก…สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๑๘)

 

 

๑๔.       อนุสาวรีย์พระพุทธเจ้า
“…พระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรม คำที่พระองค์ทรงสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ยังให้ผู้ปฏิบัติตามได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิต ทรงมอบหมายสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ที่เรียกว่า เจดีย์ทั้ง ๔ ได้แก่
๑. ธาตุเจดีย์       ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์  ที่สังเวชนียสถาน ๔ บาตร จีวร เสนาสนะ
๓. ธรรมเจดีย์     ที่จารึกพุทธวจนะ ที่บรรจุพระธรรม
๔. อุทเทสิกเจดีย์            ที่สร้างอุทิศถวาย เช่น พระพุทธรูป
ในส่วนที่ทรงย้ำในมหาปรินิพพานสูตรคือบริโภคเจดีย์ อันเป็นสถานที่พระองค์ทรงมีความสนิทพระทัยยิ่ง หรือเรียกว่า มีความผูกพันกับสังเวชนียสถาน ๔ แห่งอย่างแนบแน่น ทรงตรัสย้ำก่อนเสด็จปรินิพพาน ให้พุทธศาสนิกชนไปกราบไหว้บูชาตามกำลังสติปัญญาแห่งตน…”

(สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๒๓)

 

 

๑๕.       บุญกิริยาสัมมาปฏิบัติ
“…ในปีหนึ่งๆ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสจาริกไปแสวงบุญตามพุทธสถานเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นบุญชีวิตของชาวพุทธที่ยากจะพรรณนา เรียกว่า ได้เห็นก็เป็นบุญตา ได้สวดมนต์ภาวนาก็เป็นบุญปาก ยิ่งเดินทางลำบากยิ่งเป็นบุญใจ
ทั้งนี้เพราะความศรัทธาต่อพระบรมศาสดาโดยแท้…การได้ไปกราบไหว้สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนั้น จะต้องมีสิ่งนำพา คือ มีสติปัญญาควบคู่กับศรัทธา จึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ตลอดการเดินทางจาริกแสวงบุญตามรอยบาทพระศาสดา…”

(สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล หน้า ๗)

 

 

๑๖.       ขุมทรัพย์แห่งศรัทธา
“…คนที่มาอินเดีย มาเองก็มี เพื่อนชวนมาก็มี ถูกหลอกให้มาก็มี พระแนะนำมาก็มี ล้วนแต่มีที่ไปที่มาต่างกัน คิดดูให้ดีๆ แล้ว ศรัทธานี่เองพาเรามา กัลยาณมิตรช่วยให้เราได้มา คนเราเมื่อทำอะไรด้วยศรัทธาแล้ว เหมือนมีแก้วสารพัดนึก มีกุญแจไขตู้สมบัติ ขอให้มีศรัทธาเถิด ประเสริฐทุกเรื่อง เพราะ…
มีศรัทธา คือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง, คือ มีความเชื่อมั่นในงานที่ทำ, คือ มีความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน, คือ มีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ คนเราเมื่อศรัทธาจะทำ ทำสิ่งใดก็ไม่จำใจทำ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและในความศรัทธา ยังมีความสงบเยือกเย็น เป็นวิตามินหล่อเลี้ยงอีกด้วย…”

 

 

๑๗.       บ่อน้ำเลี้ยงเสบียงชีวิต
“…หากมีคนมอบงานให้เราทำ พึงดีใจไว้ล่วงหน้าว่า เขาเห็นความสามารถของเราและยินดีจะร่วมทำงานกับเรา จะได้มีโอกาสศึกษาหาความชำนาญเพิ่มขึ้น ผู้มอบงานให้เราทำเท่ากับท่านให้น้ำเลี้ยง เปิดทางให้เราโต ลองศึกษาครรลองของการเลี้ยงดูว่า มีสูตรพอจะเป็นวิธีได้ ดังนี้
๑. เลี้ยงไว้ใช้…..ด้วยมอบงานให้เขาทำตามความรู้ความสามารถของเขา ตามความรู้ที่เขาสามารถรับได้
๒. เลี้ยงไว้ช่วย…..ด้วยมอบงานให้เขาทำ ช่วยเพิ่มความรู้ความสามารถให้เขาและสนับสนุนให้สูงขึ้น
๓. เลี้ยงไว้ชุบ…..ด้วยสร้างฐานชีวิตให้เขามีโอกาสเรียน ศึกษาถึงที่สุด
๔. เลี้ยงไว้โชว์…..ด้วยใครมีดีอะไร เคยมีประสบการณ์อะไรที่ผ่านมาในประเทศไทย เปิดโอกาสให้เขาแสดง เสนอ สนอง ด้วยตัวของเขาเอง
นี่แหละครับ…เมื่อคนไปอยู่กับเรา ไม่ว่าเป็นพระนักศึกษา พระนวกรรม พระธรรมทูต พระผู้ศรัทธาปฏิบัติธรรม หากมีจังหวะโอกาสต้องช่วยกันดึง ช่วยกันดัน ช่วยกันสนับสนุน นี่คือ วิถีสร้างอนาคตแบบคนวัดคนวา
ผมขอย้ำว่า ที่เราตัดสินใจมาร่วมงานกันเช่นนี้ ไม่มีความสะดวกสบาย ตำแหน่งแห่งหน ลาภยศสรรเสริญ มาเป็นเครื่องต่อรองแต่อย่างใด สิ่งที่เราได้ คือ เราได้ใช้ชีวิตความเป็นพุทธบุตร ให้ถึงจุดสุดยอดแห่งความเป็นพุทธบริษัทแล้ว…”

(น้ำเลี้ยง…อิฐ หิน ปูน ทราย หน้า ๑๐)

 

 

๑๘.       ขั้นตอนปฏิบัติงาน
“…การทำงานจะให้บรรลุเป้าหมาย มิใช่ทำกันอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า หรือนึกจะทำก็ว่าไปเรื่อย โดยขาดหลักหรือขั้นตอน ถ้าไม่เตรียมการให้พร้อมจะเสียทั้งงาน เสียทั้งเวลา บางครั้งอาจเสียผู้เสียคนก็ได้ ลองปฏิบัติหน้าที่ในขั้นเช่นนี้ดูบ้าง คือ
๑. รับงาน…..งานอะไร ลักษณะงานเช่นใด จากใคร ทำความเข้าใจ
๒. วางแผนงาน…..ขอบข่าย ความสัมพันธ์กับหน่วยอื่น
๓. เตรียมงาน…..กำหนดเวลา คน เครื่องมือ
๔. ปฏิบัติงาน…..เนื้อหา วิธีทำ ตารางงาน
๕. ตรวจสอบงาน…..ปรึกษา ตรวจแก้ ให้แน่ใจ
๖. รายงาน…..ประสานงาน เป็นรายๆ เรื่องๆ
๗. ส่งงาน…..ตามกำหนด ตรงต่อผู้สั่งงานหรือผู้ให้เราทำงาน
๘. เก็บงาน…..เสร็จแล้วเก็บเข้าที่ เอกสารหมวดประเภท
ใครทำได้เช่นนี้มีแต่เจริญ เป็นทางรุ่งเรือง ระวังทางแห่งความเสื่อม คือรับงานแล้วเก็บงาน…”

(ขั้นตอนปฏิบัติงาน…อิฐ หิน ปูน ทราย หน้า ๑๒)

 

 

๑๙.       จิตวิญญาณพระธรรมทูตอินเดีย
“…พระธรรมทูตสายยุโรป สายอเมริกา ต้องเอาปัญญานำศรัทธาได้ แต่สายอินเดียและเนปาล ต้องเอาศรัทธานำปัญญา คือ
พระธรรมทูตต้องเป็นผู้มีฤทธิ์แปลงร่างได้ อยู่ในโบสถ์ต้องสวมวิญญาณพระนักเทศน์ อยู่ใต้ท้องรถต้องสวมวิญญาณช่างซ่อมรถ อยู่ในห้องพยาบาลต้องเป็นหมอรักษาโรคได้ อยู่ในห้องครัวต้องสวมวิญญาณพ่อครัว อยู่ในสวนต้องเป็นเกษตรกร ต้องมีความรู้ทุกด้าน
            ส่วนปัจจัยในการสนับสนุนพระธรรมทูตในสายต่างประเทศนั้น ยังไม่แข็งแรง เพราะรัฐบาลยังมองว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปนานาอารยประเทศนั้น ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ…”

(เทคนิควิธีการของพระธรรมทูต…บริหารแบบพระธรรมทูตอินเดีย หน้า ๔๘-๔๙)

 

 

๒๐.       สมปรารถนา
“…สำเร็จสมปรารถนา เมื่อสักการบูชาสังเวชยสถาน ๔ ตำบล ดังนี้
๑. สถานที่ประสูติ : ลุมพินีวัน ได้ชีวิตดี มีหลักประกัน, ได้ความเป็นเลิศ ประเสริฐสุด, ได้ความก้าวหน้า ยอดเจริญ ๙๗๙
๒. สถานที่ตรัสรู้ : พุทธคยา ได้ปัญญาเป็นอาวุธ, ได้รับความรู้แจ้ง แทงตลอด, ได้ชัยชนะด้วยบารมีไม่มีแพ้
๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา : พาราณสี ได้บริวาร เปิดมิตร ปิดศัตรู, ได้ความไม่วุ่นวาย ไม่ขัดข้อง, ได้ดวงตาเห็นธรรมล้ำเลิศ
๔. สถานที่ปรินิพพาน : นครกุสินารา ได้อายุยืนยาว ป่วยหาย หน่ายรัก, ได้มรดก ยกฐานะ มีทรัพย์นับไม่ถ้วน, ได้พ้นจากเครื่องเสียดแทนการทำร้ายทั้งปวง…”

(เจ้าคุณกุสินารากับนักศึกษาในอินเดีย ปกหลัง)

 

 

๒๑.       โง่อย่างปราชญ์ดีกว่าฉลาดอย่างโจร
“ทำงานแล้วโดนด่า ดีกว่านั่งอยู่ไม่เป็นท่าแล้วโดนชม ท่านทำงานไปแล้วมีคนด่าอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนี้ ต้องปรับปรุงอย่างนี้ ทำไปเถอะครับ ทำไปเถอะ เจริญอย่างเดียว ท่านอย่าไปกลัว ถ้านั่งอยู่เฉยๆ พวกมาชมเชยอย่างนั้นอย่างนี้ บอกได้เลยว่า วันแห่งมารณภาพของท่านจะมาถึงแล้ว เจริญอย่างปราชญ์ดีกว่าฉลาดอย่างโจรครับท่าน…”

๒๒. คุณค่าแท้คุณค่าเทียม
“…ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวอินเดียได้อาศัยวัวไถนา เพื่อปลูกข้าวตามฤดูกาล จึงถือเป็นหน้าที่ของวัวที่จะต้องทำ กลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องอาศัยน้ำนมจากวัวไว้ให้ลูกหลานได้ดื่มกินจนเติบใหญ่และตรงนี้เองทำให้ชาวอินเดียนับถือวัวว่าเป็นพระเจ้าเหนือชีวิต ประโยชน์จากอุจจาระวัว คือใช้ผสมกับสิ่งของที่มีอยู่เพื่อเอาไว้ทาสีบ้าน
เรียกได้ว่า เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อเหมือนบางประเทศหรือบางคนอาจมองว่าอุจจาระที่ไหนก็ไม่เคยหอม หลายคนเห็นแล้วอาจหมางเมินว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพิสมัยมากนักและประโยชน์ที่ได้จากอุจจาระวัวของชาวอินเดียก็คือนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวงจรชีวิตของวัวที่เกิดมาโชคดีไม่ต้องถูกฆ่ายามไร้ค่า วัวที่มีอายุมากถึงเวลาต้องปลดระวาง เจ้าของก็จะไม่ฆ่าเหมือนเมืองพุทธบ้านเรา
เพราะเขาเห็นว่า วัวมีคุณค่ามีบุญคุณต่อพวกเขาอย่างมาก โดยเจ้าของวัวเหล่านี้จะปล่อยให้วัวเป็นอิสระ อยากไปไหนก็ปล่อยไป ส่วนใหญ่วัวเหล่านี้ก็จะดำรงชีวิตอยู่ตามท้องถนน อาศัยเศษผักหญ้าจากพ่อค้าแม่ค้าที่คอยเจือจุนให้วัวมีชีวิตอยู่รอดไปตามยถากรรม วิถีชีวิตชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูส่วนใหญ่จึงรับประทานมังสวิรัติ
การจราจรในประเทศอินเดียตามกฎหมายแล้วจะต้องบีบแตรรถตลอดเวลา เพื่อบอกให้รู้ว่ากำลังจะขับรถแซงขึ้นหน้า หรือขับรถข้ามสี่แยก ก็จะต้องบีบแตรตลอดทุกๆ ๑๕ วินาที หากเกิดอุบัติเหตุใครก็ตามไม่ได้บีบแตรจะถือว่าเป็นฝ่ายทำผิดกฎหมาย จึงทำให้เมืองทั้งเมืองในประเทศอินเดียเต็มไปด้วยเสียงแตรรถดังอยู่ตลอดเวลา
การจราจรที่ชุลมุนแบบนี้  แต่ถ้ามีวัวตัวใดตัวหนึ่งเดินออกมาอยู่กลางถนนหรือนอนอยู่กลางถนน แบบสบายใจไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร บางครั้งรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วก็ต้องเบรกอย่างกะทันหัน จะไม่มีใครบีบแตรรถเลยสักคันเดียว แต่ผู้ขับรถทุกคนจะรอให้วัวเดินหนีไปเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เขานับถือวัวว่า เป็นพระเจ้า เป็นผู้มีบุญคุณอย่างมากต่อวิถีชีวิตเขา พวกเขาจะไม่กล้าทำอะไรที่มีผลทางจิตใจของวัวเลย…”

(ศรัทธาและความเชื่อของคนอินเดีย บทสัมภาษณ์ของ สุทธิคุณ กองทอง
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๘ หน้า ๓๙)

 
๒๓.       ยุให้แย้ง
            “…ธรรมะที่ทำให้คนศรัทธา ต้องผ่านการปฏิบัติเท่านั้น ทำไมนักสอนธรรมะบ้านเราเต็มไปหมด แต่ยิ่งสอนยิ่งแผ่ว เหมือนทำให้คนยิ่งอยากแล้วก็หาไม่เจอ เพราะอะไร? เพราะผู้สอนเพียงผ่านตำรา จำบทได้จำเนื้อหาได้ ก็ไปสอนต่อ มีวิชาเดียวในโลกที่ผู้สอนจะต้องผ่านการปฏิบัติ ผู้รับจึงจะได้ผลคือวิชาธรรมะ
จึงกล่าวได้ว่า ธรรมะต้องผลักออกไปให้คนปฏิบัติ แต่ต้องผ่านคนปฏิบัติจึงจะมีพลัง บางทีใช้ความชำนาญในการเรียบเรียงอักษร เป็นการปรุงธรรมะตามวิชาชีพ เมื่ออ่านแล้วก็เพลินไป เพลินแล้วก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ก็วางหนังสือไว้เฉยๆ
วิสาขบูชาที่ผ่านมาปีนี้ เป็นปีที่เห็นความยิ่งใหญ่ ยั่วยุให้สังคมเห็นความสำคัญ ยุให้แย้ง ขณะที่ยุให้แย้งก็เกิดผลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยส่วนใหญ่ในครั้งพุทธกาล ถ้าหากจะรู้ว่าศาสนานั้นมีอะไรไปยุเขา แล้วเขาให้แย้ง แล้วรสชาติการแสดงออกมาจากความแย้ง มันจะมีความจริง เราจะเห็นว่า วิสาขบูชาปีนี้ที่สามารถกระจายผลออกไปได้ทั่วโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศไทย
เมื่อก่อนเราถือธูปเทียนไปหาศาสนา เดี๋ยวนี้เราถือเควสชั่นมาร์คเข้าหากัน จะทำอะไรก็เควสชั่นมาร์ค? ก่อน ตั้งคำถาม Why? ทำไม? ก่อน ขณะที่ศาสนาต่างๆ ถ้าขึ้นต้นด้วย Why? ก็ยุ่งแล้ว ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วยศรัทธา ให้ปฏิบัติก่อน แต่พุทธศาสนาเราขึ้นต้นด้วย Why? น่ะดีแล้ว จะได้ขวนขวายหาความจริง แล้ววันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ต่างคนต่างเดิน แยกกันเดินน่ะดีแล้ว แยกกันเดินดีกว่าไปเผชิญทุกข์ปัญหาเดียวกัน…”

(ยุให้แย้ง จากคอร์ลั่ม ปักกลดกลางป่ากระดาษ, หมอนไม้,
เนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘, ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๖๗๙ หน้า ๗๓)

 

 

๒๔.      Dhamma Marketing
“…พวกเราทำงานในกรุงเทพฯ ท่ามกลางคนสารพัดประเภท จะมีอัตราผลกำไรมากกว่าที่อาตมาทำในอินเดีย เพราะเมืองไทยเป็นตลาดที่จะสอนธรรมะได้ดีที่สุด
และคนไทยกำลังมีความทุกข์ ทุกข์อย่างมาตรฐาน เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เป็นทุกข์แบบนักเลงไม่หลบซ่อน เราน่าจะใช้จังหวะนี้ นำหลักธรรมของศาสนาเข้าไปสู่สังคมที่จะทำได้ง่ายกว่ายุคที่ผ่านมา…”

(สาวิกาสิกขาลัยจากคอร์ลั่ม มองนอกดูใน ของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต,
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันพุธที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า ๒๘)

 

 

๒๕.      ส่องกล้องมองศาสนาดินแดนพุทธภูมิ
“…การเผยแผ่ในอินเดียอุปสรรคที่สำคัญก็คือ ความเคยชินเรายังไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ ไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาคนท้องถิ่น และไม่คุ้นเคยกับระบบราชการ การที่จะประกาศพระพุทธศาสนาในระยะแรกๆ นั้นติดขัด จึงอาศัยหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าคือ สังคหวัตถุ ๔ เป็นเครื่องนำ คือ ให้ประโยชน์เขา ให้เขาเห็นประโยชน์ให้สิ่งที่เขาอยากได้เสียก่อน แล้วค่อยให้สิ่งที่เราอยากจะให้
คนอินเดียเขายากจน เราก็อาศัยพลังทานเป็นเครื่องนำหน้า เอาพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมกับคนท้องถิ่น และวางตัวให้เป็นที่ศรัทธา คนอินเดียเขาเห็นพระเราปฏิบัติดีต่อเขา ซึ่งอาจใช้เวลา ไม่ใช่แค่วันสองวัน อาจจะใช้เวลานานเป็นสิบปี คนอินเดียถ้าเรามองดูไกลๆ เขาเป็นคนมีศาสนาและมีลัทธิเป็นพันๆ เขามีความเชื่อเรื่องศาสนาเราจะไปทำอะไรที่ขัดต่อศีลธรรมเขาไม่ได้ แต่ถ้ามองดูใกล้ๆ แล้ว ดูนิสัยใจคอจะเห็นความเหมือนในความต่าง หมายความว่า อินเดียมีศาสนาอยู่แล้วและพระพุทธศาสนาก็เกิดในอินเดีย คนเขายอมรับศาสนาพุทธในรูปโลโก้ พระโพธิสัตว์ได้เปลี่ยนเป็นพระศิวะ พระนารายณ์ พระวิษณุ หรือปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น การให้เขานับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่ยาก เพราะเขามีพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ยังไม่เข้าใจศาสนาพุทธที่แท้จริง เนื่องจากไม่มีคนสอนพวกเขาเลย เขาเห็นว่า เราเป็นผู้สืบทอดเชื้อสายมาจากพระสมณโคดม
อินเดียเขารักสัตว์ ไม่ทำทารุณกรรม ใครไปทำอันตรายไม่ได้ เขาถือว่าเป็นพาหนะของพระเจ้า มีสัตว์เป็นร้อยๆ ชนิดที่เขาอนุรักษ์ไว้โดยอาศัยหลักศาสนามาเชื่อมโยง เรื่องไหนที่เป็นผลกระทบ เราพยายามหลีกประเด็นทางด้านการเมือง และหลีกเรื่องขัดแย้งทางศาสนา ที่อินเดียคนฮินดู คริสต์ อิสลาม สามารถอยู่ร่วมกันได้
เหมือนการสร้างเจดีย์วัดไทยกุสินาราฯ มีทั้งบาทหลวง นักบวชผู้หญิง มุสลิมมาช่วยยกอิฐ ต่างฝ่ายต่างมาให้ประโยชน์กัน ที่วัดมีคลินิกรักษาผู้ป่วยทุกชาติทุกศาสนา เราออกไปพบปะโรงเรียนอิสลาม ฮินดู เรื่องศาสนสัมพันธ์ที่นั่นดีมาก ชาวอินเดียเขาเห็นชาวพุทธทั่วโลกหลั่งไหลไปเยี่ยมชมสังเวชนียสถาน เขามองเห็นว่า เป็นประโยชน์ มองเห็นไทย ญี่ปุ่น เกาหลี เจริญรุ่งเรือง เขาก็มองว่า พระพุทธศาสนาควรจะให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่…”

(ส่องกล้องมองศาสนาดินแดนพุทธภูมิ บทสัมภาษณ์พิเศษ
จากหนังสือ ธงธรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๘ หน้า ๒๓)

 

 

๒๖.       ตามรอยพระพุทธเจ้า
“…ประทับใจอะไรในอินเดียมากที่สุด? ประทับใจมากที่สุด คือรอยพระบาทหรือสิ่งที่พระพุทธเจ้ามอบไว้ให้กับโลก คือ จตุสังเวชนียสถาน กองอิฐ หิน ปูน ทราย ที่เหลือในยุคของพระพุทธเจ้าและยังเหลือร่องรอยให้เห็นในทุกวันนี้ การที่เราได้มีโอกาสได้รับใช้สถานที่ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ถือว่า เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดและยอมมอบกายถวายชีวิตให้”

(ส่องกล้องมองศาสนาดินแดนพุทธภูมิ บทสัมภาษณ์พิเศษ
จากหนังสือ ธงธรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๘ หน้า ๒๓)

 

 

๒๗.      เทศน์นอกธรรมาสน์
            “…อินเดียมีกฎอยู่ ๓ กฎ คือ ๑. กฎศาสนา ๒.กฎวัฒนธรรม ๓.กฎหมาย กฎใหญ่สุดคือกฎศาสนายังเป็นสื่อนำในการสร้างสรรค์สังคมได้อย่างแนบแน่นและสนิท เป็นภาพรวมของจิตใจ ส่วนวัฒนธรรม ครอบครัวเป็นภาพรวมของสังคม ซึ่งเป็นกฎย่อยในศาสนา ซึ่งโซเนียเธอนำมาอ้างและกฎหมายเป็นวัฒนธรรมของความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งกฎหมายก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นการปกครองโดยกฎหมายมากๆ เราอย่าคิดว่าดีนะ เพราะมันเกิดจากความขัดแย้ง แต่วัฒนธรรมเกิดมาจากความคิดร่วมกัน วัฒนธรรมของศาสนามาจากความปลงใจร่วมกัน อินเดียยังนิยมในการใช้กฎศาสนามากกว่า คือถ้ามีความขัดแย้งปั๊บสร้างความเข้าใจ อย่างเช่นปากีสถานจะสร้างนิวเคลียร์ นายกฯ อินเดียบอกว่าต้องสร้างความเข้าใจ การที่นางโซเนียไม่รับตำแหน่งก็มาสร้างความเข้าใจกัน ทำให้การเมืองดูไม่แข็งกร้าว นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นสิกข์ ประธานนาธิบดีอับดุล กาลัม เป็นมุสลิม ประธานพรรคคองเกรส โซเนีย เป็นคาทอลิก อยู่กันได้อย่างไร เพราะกฎศาสนา กฎของศาสนาทำให้คนเข้าใจกัน กฎวัฒนธรรมทำให้คนเห็นใจกัน กฎหมายต้องพูดเบาๆ เพราะทำให้คนใจกินใจกัน…

(เทศน์นอกธรรมาสน์ ‘โซเนีย คานธี’ ถึง ‘ทักษิณ’ บทสัมภาษณ์พิเศษโดย มนสิกุล โอวาทเภทสัชช์
จากหนังสือ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๖๒๗ วันที่ ๗-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ หน้า ๒๘)

 

 

๒๘.      หลักสันติภาพโลก
“…พัฒนาหลัก ๕ เพื่อสันติภาพแห่งศาสนา ดังนี้
๑. หลักประกันชีวิต อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นคุณค่าของชีวิต คือศีลข้อ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ ตัวศีลนี้คือหลักประกันชีวิต หลักสิทธิมนุษยชน พ่อเราซึ่งหมายถึงพระพุทธองค์สอนไว้แล้ว มีชีวิตที่เห็นค่าของชีวิต พัฒนาชีวิตในความเป็นมนุษย์ให้ได้ ท่านจึงคิดค่าง่ายๆ ว่า เพียงเราไม่เบียดเบียนในเบื้องต้น คุณธรรมก็เกิด
๒. หลักประกันทรัพย์สิน สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่เรามี ทรัพย์สินที่เราใช้สอย หลักศีลข้อ ๒ ห้ามลักทรัพย์ ให้สิทธิในการครอง ครองทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สิน อย่าไปเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
๓. หลักประกันครอบครัว นี่คือหลักประกันหลักที่สุด คือศีลข้อ ๓ ห้ามประพฤติผิดในกาม หลักข้อนี้คือฐานลงทั้งห้า ครอบครัวจึงเป็นหลักที่เราต้องสร้างให้มีความมั่นคงขึ้นมา ความอยู่ได้อยู่รอด ความเป็นสุข ถ้าการเมืองไม่สามารถสร้างเรื่องครอบครัวให้เป็นหลักได้แล้ว มันเหมือนสร้างตึกสิบชั้นในอากาศ มันก็ลอยอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งมันจะตกใส่หัวเอง
๔. หลักประกันสังคม คือศีลข้อ ๔ ห้ามพูดปด สังคมเราเวลานี้ขาดหลักสัจจะเพียงข้อเดียว ไม่มีความจริงใจต่อกัน เมื่อไม่มีความจริงใจต่อกัน ซื้อขายสัญญากันเป็นหางว่าวก็ไม่ทำ
๕. หลักประกันสุขภาพ คือศีลข้อ ๕ ห้ามดื่มน้ำเมา สุราเป็นเพียงชื่อของสิ่งที่เสพแล้วมันติด ติดโดยไม่ได้นึกถึงประโยชน์ โดยส่วนลึกยังนึกไม่ถึง เอาแต่ความสนุกสนาน
ถ้าเรามีหลัก ๕ ข้อนี้พัฒนาแล้วได้คุณสมบัติคือ มีความสุข ความไม่มีปัญหา ไม่มีเครื่องเสียดแทง ไม่มีเครื่องแทงหัวใจซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้นหลักประกัน ๕ อย่างนี้ ในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญของโลก มีการประชุมใหญ่ของผู้นำสงฆ์ ผู้นำศาสนา มีการเชิญชวนว่า ถ้าโลกนี้ลดอคติต่อกัน เพิ่มหลักของศีล ๕ ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ถามถือหลัก ๕ ข้อนี้แล้ว ยืนยันได้ว่า โลกมีสันติภาพแน่นอน…”

(เทศน์นอกธรรมาสน์ ‘โซเนีย คานธี’ ถึง ‘ทักษิณ’ บทสัมภาษณ์พิเศษโดย มนสิกุล โอวาทเภทสัชช์
จากหนังสือ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๖๒๗ วันที่ ๗-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ หน้า ๒๙)

 

 

๒๙.       ธรรมะพอเพียง
“…พระธรรมทูตไม่ใช่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว ก็ปฏิบัติงานได้ จำเป็นจะต้องมีหลักการ ประกอบการตัดสินใจ ๕ ประการ ได้แก่
๑. ประโยชน์ คือ ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนว่า สิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์อะไร ชั่วคราวหรือยั่งยืน
๒. ประหยัด คือ ต้องใช้ทรัพย์ของพุทธศาสนาด้วยความสำนึก ระวัง ไม่ฟุ่มเฟือย เป็นสังคมตัวอย่าง
๓. ประยุกต์ คือ ทุกอย่างที่ทำสามารถประยุกต์ใช้ในหลายๆ เรื่องได้อย่างคล่องตัว
๔. ประเพณี คือ จะต้องไม่ขัดกับธรรมเนียมประเพณีของชุมชนวัด วิถีพุทธ แนวคิดสงฆ์
๕. ประสิทธิภาพ คือ สิ่งของ บุคคล นโยบาย ต้องปรับให้มีประสิทธิภาพตามแผน…”

(หลักการของพระธรรมทูต…บริหารแบบพระธรรมทูตอินเดีย หน้า ๓๔)

 

 

๓๐.       บูรณาการพระธรรมทูตไทยในอินเดีย
“…องค์ประกอบการปฏิบัติงานพระธรรมทูตไทย จะต้องพัฒนาตนเอง กำหนดจุดยืนให้มั่นคง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
๑. ความเป็นนักบวช จะต้องเป็นบุคลากรชั้นหนึ่งในสายงานพระพุทธศาสนา เพราะนักบวชเป็นบุคลากรอยู่ในเป้าสายตาของพุทธศาสนิกชน จะต้องยึดมั่นในกิริยามารยาทตามสมณสารูปความเป็นนักบวชไทย มีการปฏิบัติตนเหมาะสม ไปอยู่ในถิ่นใดก็ยึดมั่นในรูปแบบนิกายของตน ไม่ถูกลัทธินิกายอื่นกลืน
๒. ความเป็นนักการศาสนา ต้องเข้าใจรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนาที่ชัดเจน ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง ได้แก่ ๑.เข้าใจศาสนบุคคล รู้จักบุคคล ปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ ๒.เข้าใจศาสนธรรม รู้ว่าสิ่งไหนควรจำไม่ควรจำ ธรรมะที่นำไปเผยแผ่คืออะไร และเป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ๓.เข้าใจ ศาสนพิธี รู้ว่าพิธีกรรมใดควรทำ ทำอย่างไร ในเวลาใด เป็นต้น
๓. ความเป็นนักการทูต ต้องมองถึงการทำประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน งานใดที่ควรแบ่ง ใครแบ่งให้ งานใดที่คิดขึ้นเอง งานใดที่ต้องทำตามหัวหน้า พระธรรมทูตต้องมองเห็นในทุกเรื่องและสามารถทำได้
๔. ความเป็นนักเทศน์ จะต้องรู้จักรูปแบบที่ชัดเจน รู้จักอรรถาธิบายตั้งหัวข้อให้ตรง สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาถูกจุด ถูกเป้าหมาย
๕. ความเป็นนักวิชาการ ต้องเข้าใจหลักวิชาการ ได้แก่ เข้าใจหลักพุทธพจน์ เข้าใจวิชาการทางโลกที่สอดแทรกและรู้วิชาที่เขารู้ และเข้าใจศิลปะในการครองตน ครองชีวิต
๖. ความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ต้องเข้าใจประโยชน์ ๓ อย่าง ได้แก่ ประโยชน์เบื้องต้น คือ การทำความดี ประโยชน์ท่ามกลางคือรู้จักสงเคราะห์การทำบุญ ประโยชน์สูงสุดคือรู้จักปฏิบัติตนให้ถึงความหลุดพ้น
๗. ความเป็นนักกฎหมาย อยู่ในชุมชนใด ต้องเข้าใจกฎกติกาบ้านเมืองในชุมชนนั้น จะต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
๘. ความเป็นนักจัดกิจกรรม นำสิ่งที่มีอยู่ออกไปขยาย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
๙. ความเป็นนักบริหาร เข้าใจหลักการบริหารงานในส่วนตนเอง รับผิดชอบ รู้หน้าที่ตนเอง
๑๐. ความเป็นนักปรัชญา เข้าใจหลักคำสอนของศาสนาทั้งหลาย
๑๑. ความเป็นนักการจัดการ เป็นผู้สามารถมองวงจรการทำงานออกและชัดเจน
๑๒. ความเป็นนักเขียน นักพูดและนักสังเกตการณ์ การแสดงออกถึงข้อเท็จจริง…”

(เทคนิคและวิธีการของพระธรรมทูต…บริหารแบบพระธรรมทูตอินเดีย หน้า ๕๒-๕๓)

 

…………………………….
อ่านต่อได้ที่ “ร้อยวาทะ..ธรรมะปิดทอง(๒)”

Load More Related Articles
Load More By วัดไทย960
  • วาทีหิมาลัย

    “ปรารภธรรม วาทีหิมาลัย” โดย พระราชรัตนรังษี … …
Load More In ธรรมะวาที

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Check Also

รับสมัครบรรพชา-อุปสมบทหมู่ ๑๐๘ รูป

ขอเชิญร่วมงานบุญบรรพชา-อุปสมบทหมู่ จำนวน ๑๐๘ รูป เนื่อง … …